Last updated: 17 พ.ย. 2566 | 432 จำนวนผู้เข้าชม |
สายตาสั้นเป็นภาวะบกพร่องของการมองเห็นชนิดหนึ่ง โดยผู้ที่มีสายตาสั้นสามารถมองเห็นวัตถุที่อยู่ระยะใกล้ๆได้ชัดเจน แต่ไม่สามารถมองเห็นวัตถุที่อยู่ไกลได้อย่างแจ่มชัด
สาเหตุของสายตาสั้นส่วนใหญ่เกิดจากกระจกตามีความโค้งมากกว่าปกติ ทำให้เกิดการหักเหแสงไปตกไม่พอดีบริเวณจอประสาทตา แต่หักเหไปตกด้านหน้าของจอประสาทตา เชื่อว่าเป็นความผิดปกติของกระจกตาตามธรรมชาติและอาจมีความสัมพันธ์กับกรรมพันธุ์ โดยมักมีอาการสายตาสั้นไม่มาก มักเริ่มแสดงอาการตั้งแต่วัยก่อนเข้าเรียน ค่าสายตามีแนวโน้มสั้นลงเรื่อยๆจนถึงอายุประมาณ 25 ปี หลังจากนั้นค่าสายตาจึงนิ่งและคงที่ ไม่สั้นเพิ่มขึ้น
สายตาสั้นอีกประเภทหนึ่งพบเป็นส่วนน้อย เกิดจากความผิดปกติของระยะกระบอกตา(ระยะห่างจากกระจกตาถึงจอประสาทตา) โดยผู้ที่เป็นสายตาสั้นประเภทนี้จะมีระยะกระบอกตายาวกว่าปกติ จึงทำให้แสงที่ผ่านและถูกหักเหโดยกระจกตาและเลนส์ตาเกิดการรวมและตกลงที่ด้านหน้าก่อนถึงจอประสาทตาคล้ายสายตาสั้นชนิดธรรมดาที่พบเป็นส่วนใหญ่ สายตาสั้นประเภทนี้เกิดจากความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ มักเป็นตั้งแต่กำเนิด และมีค่าสายตาที่สั้นมากกว่าผู้ที่มีภาวะสายตาสั้นชนิดธรรมดา
ดังนั้นโดยทั่วไปแล้ว สายตาสั้นส่วนใหญ่จึงเป็นความผิดปกติของการมองเห็นที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ส่วนน้อยเป็นความผิดปกติจากพันธุกรรมโดยตรง การใช้คอมพิวเตอร์ มือถือนานๆ หรือในระยะใกล้ จึงไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้สายตาสั้นดังที่หลายคนเข้าใจผิดแต่อย่างใด อย่างไรก็ดีพฤติกรรมเหล่านี้ก็ส่งผลเสียต่อการมองเห็นได้ โดยทำให้กล้ามเนื้อตาเกิดอาการล้าและอ่อนแอลง ขาดกำลังและไม่สามารถควบคุมการหักเหแสงของเลนส์ตาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ไม่สามารถเห็นภาพชัดเจนได้เช่นกัน