รู้จักกรดอะมิโน

Last updated: 17 ก.พ. 2566  |  559 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รู้จักกรดอะมิโน

รู้จักกรดอะมิโน

กรดอะมิโน (Amino Acids) เป็นหน่วยย่อยที่เล็กที่สุดของโปรตีน ผ่านกระบวนการทำให้อยู่ในรูปที่สามารถดูดซึมและออกฤทธิ์ต่างๆในร่างกายได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการย่อยในทางเดินอาหารอีก กรดอะมิโนแบ่งออกเป็นกรดอะมิโนชนิดจำเป็นซึ่งร่างกายมนุษย์ไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ ต้องได้รับจากอาหารเท่านั้น และกรดอะมิโนชนิดไม่จำเป็นซึ่งร่างกายสามารถสังเคราะห์ขึ้นเองได้ โดยทั่วไปแหล่งสำคัญของกรดอะมิโนได้จากอาหารคือโปรตีนในธรรมชาติ เช่น เนื้อสัตว์ พืช ไข่ ผลิตภัณฑ์ต่างๆจากนม เป็นต้น อย่างไรก็ดีอาหารธรรมชาติเหล่านี้มักมีสัดส่วนของกรดอะมิโนองค์ประกอบแตกต่างกันไปและไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะกรดอะมิโนชนิดจำเป็นซึ่งต้องได้รับจากอาหารเท่านั้น ด้วยเหตุนี้การบริโภคอาหารไม่ครบถ้วนหลากหลายเพียงพอจึงมีโอกาสทำให้เราขาดกรดอะมิโนบางชนิดได้

 

ความสำคัญของกรดอะมิโน

กรดอะมิโนเป็นวัตถุดิบสำคัญที่สุดที่ร่างกายนำไปใช้สร้างโปรตีนโครงสร้างของอวัยวะทุกชนิดในร่างกาย เช่น กระดูก กล้ามเนื้อ เอ็น ผิวหนัง เส้นผม เล็บ เส้นเลือด หัวใจ สมอง และอวัยวะภายในทั้งหลาย  ไม่เพียงเท่านั้นโปรตีนที่สร้างโดยกรดอะมิโนในรูปของฮอร์โมนและเอนไซม์หลายชนิดมีบทบาทโดยตรงในการควบคุมการทำงานของร่างกายทุกระบบให้ทำงานได้ตามปกติตลอดเวลา ดังนั้นผู้ที่ขาดโปรตีนโดยเฉพาะกรดอะมิโนชนิดจำเป็นจึงอาจส่งผลให้ร่างกายมีความผิดปกติบางประการ เช่น ระบบย่อยและดูดซึมอาหาร การเผาผลาญและใช้พลังงาน การนอนหลับ การสร้างและซ่อมแซมร่างกาย ระบบประสาทสมอง ความจำ การเรียนรู้ ฮอร์โมนเจริญเติบโต ฮอร์โมนเพศ ไปจนถึงเกิดความผิดปกติทางโครงสร้างลึกถึงระดับเซลล์และพันธุกรรม  

 

บทบาทอื่นๆของโปรตีนจากกรดอะมิโน

เป็นแหล่งพลังงานสำรอง (Emergency Energy) สำหรับร่างกาย

เมื่อร่างกายไม่สามารถใช้พลังงานจากคาร์โบไฮเดรตและไขมันในร่างกายได้ตามปกติ เช่น เมื่ออยู่ในภาวะขาดพลังงาน อดอาหาร หรือนักกีฬาที่ออกกำลังกายอย่างหนัก เป็นต้น

ช่วยสร้างกล้ามเนื้อ(Muscle Builder) 

โปรตีนที่มีคุณภาพดี จะป้องกันการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อระหว่างการลดน้ำหนักหรือออกกำลังกาย ทำให้เกิดการเผาผลาญเฉพาะคาร์โบไฮเดรตกับไขมันที่สะสมไว้เท่านั้น  ไม่เพียงเท่านั้นโปรตีนยังช่วยกระตุ้นการสร้างมวลกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นภายหลังการออกกำลังกาย ผลที่ได้จึงทำให้รูปร่างดี  มัดกล้ามเนื้อมีความสมบูรณ์และแข็งแรง  อย่างไรก็ดีเมื่อเราอายุมากขึ้น กระบวนการสังเคราะห์โปรตีนกล้ามเนื้อ(Muscle Protein Synthesis-MPS)จะลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้มวลกล้ามเนื้อลดลง ความแข็งแรงน้อยลง การได้รับโปรตีนที่ประกอบด้วยกรดอะมิโนหลากหลายครบถ้วนร่วมกับการออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มกระบวนการสังเคราะห์โปรตีนในกล้ามเนื้อของผู้สูงอายุ และชะลอการลดลงของมวลกล้ามเนื้อได้

เพิ่มความแข็งแรงของกระดูก (Bone Strength)

การได้รับกรดอะมิโนในรูปแบบโปรตีนอย่างเพียงพอเหมาะสม ทำให้กระดูกของเรามีความหนาแน่นแข็งแรง ไม่แตกหักง่าย นอกจากนั้นยังช่วยลดการเกิดภาวะกระดูกพรุนเมื่อเราสูงวัยขึ้น ทั้งนี้ในแต่ละปีทั่วโลกมีผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุนหลายล้านคน ในจำนวนดังกล่าวมีจำนวนไม่น้อยที่เสียชีวิตเนื่องจากภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงจากกระดูกหักที่มีสาเหตุจากโรคกระดูกพรุน

กระตุ้นภูมิต้านทาน

โปรตีนมีผลกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันโดยตรง ทำให้เม็ดเลือดขาวหลายชนิดทำงานดีขึ้น เช่น เม็ดเลือดขาวชนิด T cells, B cells โปรตีนกระตุ้นการสร้าง Antibodies นานาชนิด เพื่อต่อสู้กับเชื้อโรคสิ่งแปลกปลอมต่างๆที่เข้าสู่ร่างกาย ทั้งเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา และสารพิษนานาชนิด ลดโอกาสการติดเชื้อในผู้ที่ภูมิต้านทานร่างกายอ่อนแอหรือบกพร่อง เช่น ผู้ที่ทำงานหนัก ออกกำลังกายหนัก ผู้ที่มีความเครียดสูง อดนอน พักผ่อนน้อย ผู้ที่ทำงานท่ามกลางมลภาวะ ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ที่ขาดสารอาหาร ผู้สูงอายุ เป็นต้น

ลดความอยากอาหาร

บางครั้งความรู้สึกอยากอาหารที่เกิดขึ้นนั้นก็เป็นเพียงสัญญาณหลอกที่มาจากสมอง หาใช่ความหิวจากท้องว่างเปล่าของเราจริงๆไม่ มีการศึกษาที่พบว่าการได้รับโปรตีนที่เหมาะสม ช่วยยับยั้งความรู้สึกอยากอาหารให้ลดลงและยังช่วยให้รู้สึกอิ่มได้นานขึ้น โปรตีนจึงมีประโยชน์สำหรับผู้ที่ควบคุมน้ำหนักหรือต้องการจำกัดอาหาร

เพิ่มการเผาผลาญอาหาร

โปรตีนที่ดีช่วยเพิ่มระดับกระบวนการเผาผลาญอาหาร(Metabolic rate)ทั้งไขมัน คาร์โบไฮเดรตในร่างกายให้สูงขึ้น และเปลี่ยนอาหารดังกล่าวให้เป็นพลังงานที่จำเป็นสำหรับอวัยวะทุกส่วน ทำให้ร่างกายได้รับพลังงานอย่างเพียงพอ เราจึงรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ไม่อ่อนเพลีย

ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด

โปรตีนจากกรดอะมิโนหลากหลายครบถ้วนส่งเสริมการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือดให้ทำงานได้เป็นปกติ ช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดหลายชนิด เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เส้นเลือดสมองตีบ อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคเส้นเลือดส่วนปลาย เป็นต้น อย่างไรก็ดีโรคหัวใจและหลอดเลือดยังเกิดจากสาเหตุอื่นๆได้อีกมากเช่นกัน โดยเฉพาะจากพฤติกรรมการกินอาหารและใช้ชีวิตไม่เหมาะสม ผู้ที่มีความเสี่ยงโรคดังกล่าว นอกจากการได้รับโปรตีนที่ดีอย่างเพียงพอแล้ว ควรปรับเปลี่ยนหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เป็นสาเหตุร่วมอื่นๆ ข้างต้นดังกล่าวด้วย

รักษาแผล

โปรตีนมีคุณสมบัติเป็นองค์ประกอบโครงสร้างของส่วนต่างๆของร่างกายทุกส่วน รวมถึงเนื้อเยื่อผิวหนัง ระหว่างที่เกิดบาดแผล เมื่อร่างกายได้รับโปรตีนอย่างเพียงพอ จะช่วยกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อเกี่ยวพันใหม่ที่แข็งแรง ปกติ บริเวณบาดแผล ทำให้แผลหายเร็ว ไม่เกิดรอยแผลเป็นรุนแรง โดยเฉพาะแผลเป็นชนิดนูนแข็ง(Keloid)

ขนส่งสารอาหาร

ในเลือดของเรามีสารต่างๆหลายชนิดที่มีโครงสร้างประกอบด้วยโปรตีน มีหน้าที่ช่วยขนส่งลำเลียงสารอาหารต่างๆ รวมถึงออกซิเจนผ่านกระแสเลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะและเซลล์ต่างๆทั่วร่างกาย ดังนั้นผู้ที่ขาดโปรตีนจึงอาจมีความผิดปกติในระบบลำเลียงสารอาหาร จนอาจส่งผลให้อวัยวะบางอย่างทำงานผิดปกติได้เช่นกัน

 

สัญญาณแสดงว่าคุณอาจกำลังขาดโปรตีน

บางครั้งผลของการขาดโปรตีนก็แสดงออกมาให้เราสังเกตเห็นได้เช่นกัน ต่อไปนี้เป็นอาการผิดปกติบางประการที่อาจเป็นข้อสังเกตว่าคุณอาจกำลังขาดโปรตีน

อาการบวม (Edema) โดยเฉพาะการบวมที่ท้อง มือ ขา และปลายเท้า บางครั้งเกิดจากความผิดปกติของโปรตีน Albumin ที่ทำหน้าที่ควบคุมน้ำที่ไหลเวียนในระบบไหลเวียนโลหิต

อารมณ์แปรปรวน สารสื่อประสาทในสมองหลายชนิดสร้างจากโปรตีน เช่น Dopamine, Serotonin การขาดโปรตีนส่งผลต่อการสร้างหรือสังเคราะห์สารสื่อประสาทเหล่านี้  และอาจมีผลทำให้เกิดภาวะอารมณ์หดหู่หรือก้าวร้าวผิดปกติได้

ปัญหาเส้นผม เล็บ ผิวหนัง โปรตีนเป็นส่วนประกอบของ Elastin, Collagen, Keratin ซึ่งเป็นสายโปรตีนโครงสร้างของเส้นผม เล็บ และผิวหนัง การขาดโปรตีนจึงเป็นสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้เกิดผมบาง ขาดความเงางาม หลุดร่วงง่าย ผิวแห้งเป็นขุย ขาดความชุ่มชื้น เป็นโรคผิวหนังง่าย เล็บไม่เรียบ เปราะ ฉีกขาดบ่อย เป็นต้น

อ่อนเพลีย อ่อนล้า การศึกษาพบว่าการได้รับโปรตีนไม่เพียงพอเพียง 1 สัปดาห์ สามารถส่งผลโดยตรงต่อความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เกิดการสูญเสียมวลและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ นอกจากนั้นยังทำให้การเผาผลาญอาหารในร่างกายลดลง ร่างกายขาดพลังงาน จึงเกิดอาการอ่อนเพลีย อ่อนล้า

หิวบ่อย กินจุ ผู้ที่ได้รับโปรตีนอย่างเพียงพอ จะช่วยให้เกิดความรู้สึกอิ่มนาน ไม่หิวบ่อย ในทางตรงข้ามผู้ที่ขาดโปรตีน อาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกอยากอาหาร จึงเกิดอาการหิวบ่อยและกินจุเพิ่มขึ้นกว่าปกติ

แผลหายช้า โปรตีนมีความจำเป็นต่อการสร้างคอลลาเจนบริเวณบาดแผล เมื่อร่างกายมีบาดแผลเกิดขึ้น เนื้อเยื่อบริเวณที่บาดเจ็บจะเกิดกระบวนการซ่อมแซมผิวหนัง เริ่มต้นจากกระบวนการทำให้เลือดหยุดไหล และในที่สุดเกิดการสร้างเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดคอลลาเจนเพื่อสมานบาดแผล ในภาวะนี้ร่างกายจำเป็นต้องใช้โปรตีนเป็นองค์ประกอบ ดังนั้นหากร่างกายขาดโปรตีนก็จะทำให้การสร้างเนื้อเยื่อคอลลาเจนดังกล่าวเกิดขึ้นไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้แผลหายช้า หรืออาจเกิดรอยแผลเป็นหลังแผลหายเนื่องจากการสร้างเนื่อเยื่อคอลลาเจนผิดปกติ

เจ็บป่วยนาน กรดอะมิโนมีบทบาทโดยตรงทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายทำงานตามปกติ ช่วยกระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆ ต่อสู้กับเชื้อโรคและสารพิษนานาชนิดที่เข้าสู่ร่างกาย มีหลักฐานว่าการได้รับโปรตีนที่มีคุณภาพสามารถเพิ่มจำนวนแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ เพิ่มภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคต่างๆในทางเดินอาหารของเราได้ ผู้ที่ขาดโปรตีนจึงมักมีภูมิต้านทานร่างกายอ่อนแอ ติดเชื้อง่าย เจ็บป่วยบ่อย และมักต้องใช้เวลาฟื้นตัวจากการเจ็บป่วยนานกว่าปกติ

 

แหล่งของกรดอะมิโนและโปรตีนในธรรมชาติ

แหล่งของกรดอะมิโนและโปรตีนที่ดีในธรรมชาติ ได้แก่ ปลาซาร์ดีน, ปลาทูน่า, อกไก่, ไข่, ชีสสด(Cottage Cheese), เทมเป้(Tempeh), ข้าวโอ๊ต, ถั่วชนิดต่างๆ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วดำ ถั่วลิสง ถั่วลันเตา, มันฝรั่ง, ผักบร็อคโคลี่, เห็ด, ข้าวโพด เป็นต้น ควรรับประทานอาหารโปรตีนอย่างหลากหลายเพื่อให้ร่างกายได้รับกรดอะมิโนครบถ้วน โดยเฉพาะกรดไขมันชนิดจำเป็นซึ่งร่างกายสร้างเองไม่ได้

 

ประเภทของกรดอะมิโน(Amino Acids)

ดังได้กล่าวแล้วว่ากรดอะมิโนคือหน่วยย่อยเล็กที่สุดของโปรตีน ได้จากการย่อยโมเลกุลโปรตีนจนได้หน่วยที่เล็กที่สุด คือ กรดอะมิโน สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและออกฤทธิ์ได้ทันที กรดอะมิโนแบ่งเป็น 2 ประเภท  คือ กรดอะมิโนชนิดจำเป็น(Essential Amino Acids) 9 ชนิด ซึ่งร่างกายสังเคราะห์เองไม่ได้ จำเป็นต้องได้รับจากอาหารเท่านั้น และกรดอะมิโนชนิดไม่จำเป็น(Non-Essential Amino Acids) 11 ชนิดซึ่งร่างกายสังเคราะห์เองได้จากกรดอะมิโนอื่นๆ

 

บทบาทหน้าที่ของกรดอะมิโนชนิดต่างๆ

กรดอะมิโนชนิดจำเป็น (Essential Amino Acids) 9 ชนิด

1.Leucine ลิวซีน มีบทบาทกระตุ้นกระบวนการสังเคราะห์โปรตีนซึ่งเป็นโครงสร้างหลักของกล้ามเนื้อ โดยทำงานใกล้ชิดร่วมกับกรดอะมิโนไอโซลิวซีน(Isoleucine) และกรดอะมิโนวาลีน(Valine) ช่วยเพิ่มมวลและความแข็งแรงกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อมีกำลังเพิ่มขึ้น

2.Isoleucine ไอโซลิวซีน เกี่ยวข้องและกระตุ้นกระบวนการสังเคราะห์โปรตีนกล้ามเนื้อโดยทำงานร่วมกันกับกรดอะมิโนลิวซีน(Leucine)และวาลีน(Valine) นอกจากนั้นไอโซลิวซีนยังมีบทบาทช่วยเพิ่มการดูดซึมกลูโคสและการใช้กลูโคสเป็นพลังงานในระหว่างการออกกำลังกาย

3.Lysine ไลซีน เป็นกรดอะมิโนอีกชนิดหนึ่งที่จำเป็นต่อการสังเคราะห์โปรตีนในร่างกาย ทำงานร่วมกับกรดอะมิโนอีกหลายชนิด นอกจากถูกนำมาใช้ประโยชน์ในกลุ่มนักกีฬาหรือผู้ที่ต้องการเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแล้ว มีรายงานว่าไลซีนยังอาจช่วยยับยั้งการเจริญของเชื้อไวรัสเริม(Herpes simplex)และช่วยบรรเทาอาการของโรคได้อีกด้วย

4.Methionine นอกจากกรดอะมิโนเมไทโอนีนจะมีหน้าที่ในกระบวนการสังเคราะห์โปรตีนแล้ว ยังช่วยกระตุ้นการเจริญของเส้นผม  ป้องกันความผิดปกติของผิวหนัง ผม เล็บ เมไทโอนีนมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ(Antioxidant) ปกป้องตับจากความเสียหายโดยสารพิษต่างๆที่เข้าสู่ร่างกาย และยังช่วยเพิ่มการสังเคราะห์เลซิตินที่ตับ จึงช่วยลดคลอเลสเตอรอลในเลือดและลดภาวะไขมันพอกตับลงได้ 

5.Phenylalanine ฟีนิลอะลานีนเป็นส่วนประกอบของโปรตีนโครงสร้างต่างๆในร่างกายเช่นเดียวกับกรดอะมิโนจำเป็นชนิดอื่นๆ  มีข้อมูลว่าฟีนิลอะลานีนอาจช่วยชะลอหรือบรรเทาอาการของโรคด่างขาว(Vitiligo)ซึ่งเป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสีของผิวหนัง(Melanocyte)ถูกทำลาย ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของโรคนี้ ฟีนิลอะลานีนยังเป็นสารตั้งต้นสำหรับสมองเพื่อสร้างสารนอร์อีพิเนฟริน(Norepinephrine)และโดพาร์มีน(Dopamine)ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทในสมองที่มีผลเพิ่มความจำ ทำให้เรารู้สึกตื่นตัว ลดความอยากอาหาร จึงถูกใช้ประโยชน์สำหรับผู้ที่เป็นโรคสมาธิสั้น(ADHD) และผู้ที่มีภาวะหดหู่(Depression)

6.Threonine กรดอะมิโนทรีโอนีนมีบทบาทควบคุมสมดุลของโปรตีนต่างๆในร่างกาย การสร้างโปรตีนคอลลาเจน อีลาสติน สารเคลือบฟัน และยังเกี่ยวข้องกับการผลิตไขมันในตับ ป้องกันไขมันสะสมในตับมากเกินไป ทรีโอนีนยังช่วยปรับการทำงานของระบบย่อยอาหารและลำไส้ให้เป็นปกติได้อีกด้วย

7.Tryptophan ทริปโตแฟนเป็นกรดอะมิโนที่สำคัญยิ่งต่อการเจริญเติบโตของทารก เป็นสารตั้งต้นในการสร้างฮอร์โมนซีโรโทนิน(Serotonin)ทำหน้าที่เป็นสารสื่อประสาทระหว่างเซลล์สมอง ปริมาณซีโรโทนินในสมองที่ลดลงส่งผลต่อภาวะอารมณ์ ทริปโตแฟนช่วยเพิ่มระดับของซีโรโทนินให้เพิ่มขึ้น จึงมีการนำคุณสมบัติของทริปโตแฟนมาใช้ประโยชน์ช่วยให้นอนหลับได้ดี บรรเทาภาวะอารมณ์หดหู่ วิตกกังวล ช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น บรรเทาอาการปวดเรื้อรัง(chronic pain) ช่วยควบคุมน้ำหนัก นอกจากนั้นพบว่าการขาดกรดอะมิโนทริปโตแฟนอาจเพิ่มความเสี่ยงของหลอดเลือดหัวใจ(coronary artery)ได้

8.Valine กรดอะมิโนชนิดวาลีนมีคุณสมบัติกระตุ้นการเจริญเติบโตและซ่อมแซมเนื้อเยื่อส่วนต่างๆในร่างกาย กรดอะมิโนวาลีนทำงานร่วมกับกรดอะมิโนชนิดลิวซีน(Leucine)และไอโซลิวซีน(Isoleucine)เพื่อสร้างพลังงาน เพิ่มความทน(Endurance) ซ่อมแซม ฟื้นฟูกล้ามเนื้อ และเพิ่มการผลิตโกร๊ธฮอร์โมน(Growth Hormone)เพิ่มขึ้น การขาดกรดอะมิโนวาลีนอาจส่งผลยับยั้งการเจริญเติบโต การทำงานของระบบประสาท ทำให้เกิดโรคโลหิตจาง และภาวะผิดปกติอื่นๆ

9.Histidine ปัจจุบันเรายังไม่ทราบแน่ชัดว่ากรดอะมิโนฮิสติดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร แต่พบว่ากรดอะมิโนชนิดนี้อาจมีหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันและมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ทั้งนี้พบความสัมพันธ์ระหว่างระดับกรดอะมิโนฮิสติดีนที่ลดลงในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์(Rheumatoid arthritis)อีกด้วย

 

ปริมาณความต้องการกรดอะมิโนชนิดจำเป็นของผู้ใหญ่

กรดอะมิโนชนิดไม่จำเป็น 11 ชนิด

1. Glutamic acid กรดกลูตามิก ทำหน้าที่เป็นสารสื่อประสาท(Neurotransmitter)ในสมอง และยังเป็นสารตั้งต้นที่ใช้สังเคราะห์สาร GABA ซึ่งเกี่ยวข้องกับการรักษาสมดุลการทำงานในสมอง ช่วยให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย  

2. Aspartic acid กรดแอสพาร์ติกเป็นสารตั้งต้นของการสังเคราะห์กรดนิวคลีอิก(Nucleic acids)ซึ่งเป็นสารพันธุกรรมภายในเซลล์ทุกเซลล์ เป็นสารตั้งต้นในการสร้างโปรตีนต่างๆหลายชนิด รวมถึงกรดอะมิโนแอล-อาร์จีนีน(L-arginine) กรดแอสพาร์ติกเกี่ยวข้องกับวัฏจักรการสร้างพลังงานในระดับเซลล์ จึงมีการนำมาใช้ประโยชน์เพื่อลดอาการอ่อนล้าของกล้ามเนื้อในกลุ่มนักกีฬา   

3. Glutamine กรดอะมิโนกลูตามีนสำคัญต่อการควบคุมสมดุลไนโตรเจนในร่างกาย ช่วยป้องกันการสลายตัวของกล้ามเนื้อ ปกป้องทางเดินอาหารจากเชื้อแบคทีเรียก่อโรคชนิดแกรมลบในลำไส้ใหญ่ เพิ่มการทำงานของเม็ดเลือดขาวและระบบภูมิคุ้มกัน เพิ่มการสังเคราะห์กลูต้าไธโอนในลำไส้ซึ่งทำหน้าที่ปกป้องเยื่อบุทางเดินอาหารจากอนุมูลอิสระต่างๆ เป็นต้น  

4. Glycine ไกลซีนเป็นกรดอะมิโนที่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านหรือลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ และอาจมีคุณสมบัติคล้ายยาต้านอาการผิดปกติทางจิตบางอย่าง ทั้งนี้เป็นผลจากคุณสมบัติความเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและฤทธิ์การลดการอักเสบของไกลซีนเอง ไกลซีนยังเกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย

5. Cysteine ซิสเทอีนเป็นกรดอะมิโนที่รู้จักกันดีชนิดหนึ่งเนื่องจากประโยชน์เกี่ยวข้องกับการเป็นสารแก้พิษ(Antidote)จากการกินยาพาราเซตามอลเกินขนาด ทั้งนี้เนื่องจากกรดอะมิโนซิสเทอีนมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระและเป็นกรดอะมิโนหลัก 1 ใน 3 ชนิดที่ร่างกายนำไปใช้สร้างสารกลูต้าไธโอนช่วยทำลายสารพิษที่เกิดจากการได้รับยาพาราเซตามอลปริมาณสูง ปกป้องตับและไตจากการถูกทำลายโดยพิษของยาดังกล่าว ซิสเทอีนยังจำเป็นต่อทารก ผู้สูงอายุที่มีความผิดปกติหรือเป็นโรคทางเมตาบอลิก โดยปกติแล้วร่างกายเราสามารถสังเคราะห์ซิสเทอีนได้เองหากร่างกายมีกรดอะมิโนจำเป็นชนิดเมไธโอนีนเพียงพอ 

6. Serine ในภาวะปกติกรดอะมิโนเซอรีนสร้างขึ้นได้เองภายในร่างกายจากกรดอะมิโนชนิดจำเป็น 2 ชนิด คือ กรดอะมิโนไกลซีนและทรีโอนีน กรดอะมิโนเซอรีนมีความสำคัญยิ่งต่อการสร้างโปรตีนต่างๆ เช่น โปรตีนโครงสร้างกล้ามเนื้อ โปรตีนเอนไซม์ที่ทำหน้าที่เร่งปฏิกิริยาหลายชนิด เซอรีนจำเป็นต่อการเผาผลาญไขมันและการสร้างสารแอนติบอดี้ที่จำเป็นต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายด้วย

7. Tyrosine ไทโรซีนเป็นกรดอะมิโนชนิดไม่จำเป็นซึ่งร่างกายสามารถสร้างได้เองจากกรดอะมิโนจำเป็นชนิดฟีนิลอะลานีน ไทโรซีนเป็นสารตั้งต้นของการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน(Thyroxin)ทำหน้าที่ควบคุมการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย และเป็นสาตั้งต้นของสารสื่อประสาทนอร์อีพิเนฟริน(Norepinephrine)กับโดพามีน(Dopamine) จากคุณสมบัติดังกล่าวจึงมีการนำกรดอะมิโนชนิดนี้ไปใช้เพื่อรักษาอาการซึมเศร้า(antidepressant) ช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น ลดความเครียด(stress) บรรเทาอาการโรคลมหลับ(narcolepsy) เพิ่มความจำ บรรเทาอาการเหนื่อยล้า และช่วยให้ตื่นตัว พบว่าผู้ที่ขาดกรดอะมิโนไทโรซีนทำให้เกิดอาการโรคไฮโปไทรอยด์(Hypothyroidism) ร่างกายลดระดับการเผาผลาญพลังงานลง อุณหภูมิร่างกายและความดันโลหิตลดต่ำลง และอื่นๆ 

8. Proline โปรลีนเป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายสามารถสร้างขึ้นเองจากกรดอะมิโนกลูตามิก(Glutamic acid)  โปรลีนเป็นส่วนประกอบสำคัญของโครงสร้างคอลลาเจนซึ่งมีอยู่มากบริเวณผิวหนัง เอ็นกล้ามเนื้อ กระดูกอ่อนตามข้อ โปรลีนยังมีบทบาทเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันและการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจอีกด้วย  

9. Alanine กรดอะมิโนอะลานีนช่วยควบคุมสมดุลน้ำตาลในกระแสเลือด โดยถูกเปลี่ยนเป็นกลูโคสที่ตับเพื่อเป็นพลังงานของร่างกาย เซลล์สมอง ระบบประสาท และเซลล์กล้ามเนื้อต่างๆ  อะลานีนสามารถกระตุ้นการสร้างแอนติบอดี้ช่วยให้ภูมิต้านทานร่างกายเพิ่มขึ้น

10. Arginine อาร์จินีนช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อเชื้อโรค เช่น แบคทีเรีย ไวรัส หรือแม้แต่เนื้องอกที่ผิดปกติ อาร์จีนีนทำให้เกิดการหลั่งโกร๊ธฮอรโมนซึ่งกระตุ้นการเติบโตของกล้ามเนื้อและซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่สึกหรอในร่างกาย ยังพบอีกว่าอาร์จีนีนเป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารไนตริกออกไซด์(Nitric oxide – NO)ซึ่งมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดต่างๆ จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดต่างๆลงได้

11. Asparagine กรดอะมิโนแอสพาราจีนสร้างขึ้นได้เองจากกรดแอสพาร์ติก(Aspartic acid) มีความสำคัญทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของเซลล์สมอง เซลล์ประสาท และกำจัดสารแอมโมเนียที่เป็นพิษต่อเซลล์ต่างๆในร่างกาย กรดอะมิโนแอสพาราจีนยังเป็นโครงสร้างของโปรตีนต่างๆจำนวนมากในร่างกายอีกด้วย

 

ประโยชน์ของการเสริมกรดอะมิโนรวม

จากข้างต้นจะเห็นว่ากรดอะมิโนทั้ง 20 ชนิดมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำงานทุกส่วนในร่างกาย ตั้งแต่ทำหน้าที่เป็นโปรตีนโครงสร้างของกล้ามเนื้อ เอ็น กระดูก ข้อต่อ ผิวหนัง เนื้อเยื้อเกี่ยวพัน และอวัยวะทุกส่วน  นอกจากนั้นกรดอะมิโนยังเป็นวัตถุดิบส่วนประกอบของการผลิตฮอร์โมนและเอนไซม์ทั้งหลาย ซึ่งควบคุมทุกระบบในร่างกายให้ทำงานได้อย่างปกติ มีการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมกรดอะมิโนอย่างกว้างขวาง เช่น นักกีฬาหรือผู้ที่ออกกำลังกายที่ต้องการเพิ่มมวลและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ผู้ที่ทำงานหนักมีความเครียดสูงต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบประสาทสมอง ผู้ที่ต้องการเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ฯลฯ

จากคุณสมบัติของกรดอะมิโนข้างต้น จะเห็นว่าการได้รับกรดอะมิโนหลากหลายจึงจำเป็นและสำคัญยิ่ง อย่างไรก็ดีอาหารธรรมชาติแต่ละชนิดอาจมีกรดอะมิโนไม่สมดุลหรือหลากหลาย บวกกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เร่งรีบของคนยุคใหม่ จึงอาจทำให้เรารับประทานอาหารที่มีกรดอะมิโนจำเป็นไม่เพียงพอ การเสริมด้วยอาหารเสริมกรดอะมิโนรวมเป็นวิธีง่ายๆให้แน่ใจว่าร่างกายของเราจะได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์เหล่านี้  เพื่อร่างกายนำไปสร้าง ซ่อมแซมส่วนชำรุดเสียหาย หรือต่อสู้กับอนุมูลอิสระในร่างกาย ทั้งที่เกิดจากกระบวนการอักเสบ การติดเชื้อ มลภาวะพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ขาดความระวังใส่ใจเรื่องสุขภาพ เช่น การพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำงานหนัก การรับประทานอาหารเร่งรีบขาดคุณภาพ เป็นต้น เพื่อคงความสามารถและการทำงานของร่างกายให้ทำงานอย่างปกติ ให้เรามีสุขภาพดีสมวัย และช่วยห่างไกลจากโรคร้ายทั้งหลาย

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรดอะมิโนเสริมได้ที่ :

Line official : @VITAMATECLUB

 

แหล่งอ้างอิง :

1. Joint WHO/FAO/UNU Expert Consultation Protein and Amino Acid Requirements in Human Nutrition World Health Organ Tech Rep Ser.(2007)

2. MacLean DA, Graham TE, Saltin BBranched-chain amino acids augment ammonia metabolism while attenuating protein breakdown during exerciseAm J Physiol.(1994 Dec)

3. https://www.webmd.com/diet/ss/slideshow-what-protein-does-for-your-body

4. Effect of branched-Chain Amino Acid Supplementation on Muscle Soreness following Exercise : A Meta-Analysis  (Review Int J Vitam Nutr Res. 2019 Nov;89(5-6):348-356.)

5. The Effect of Amino Acids on Wound Healing: A Systematic Review and Meta-Analysis on Arginine and Glutamine (Meta-Analysis Nutrients. 2021 Jul 22;13(8):2498.)

6. Effects of branched-chain amino acid-rich supplementation on EWGSOP2 criteria for sarcopenia in older adults: a systematic review and meta-analysis.( Review Eur J Nutr. 2022 Mar;61(2):637-651.)

7. The effect of branched-chain amino acid on muscle damage markers and performance following strenuous exercise: a systematic review and meta-analysis.( Meta-Analysis Appl Physiol Nutr Metab. 2021 Nov;46(11):1303-1313.)

8. Nutritional interventions to improve muscle mass, muscle strength, and physical performance in older people: an umbrella review of systematic reviews and meta-analyses.( Meta-Analysis Nutr Rev. 2021 Jan 9;79(2):121-147.)

9. Abnormal circulating amino acid profiles in multiple metabolic disorders.( Meta-Analysis Diabetes Res Clin Pract

. 2017 Oct;132:45-58.)

10.Effects of oral amino acid supplementation on Multidimensional Prognostic Index in hospitalized older patients: a multicenter randomized, double-blind, placebo-controlled pilot study.( Randomized Controlled Trial Clin Interv Aging

. 2018 Apr 16;13:633-640.)

11. Amino acid mixture acutely improves the glucose tolerance of healthy overweight adults.( Randomized Controlled Trial Nutr Res. 2012 Jan;32(1):30-8.)

12.Effects of an essential amino acid mixture on behavioral and psychological symptoms of dementia and executive function in patients with Alzheimer's disease: A double-blind, randomized, placebo-controlled exploratory clinical trial. (Randomized Controlled Trial Int J Geriatr Psychiatry. 2022 Sep;37(9):10.1002/gps.5782.)

13. Amino acid supplementation alters bone metabolism during simulated weightlessness.( Clinical Trial J Appl Physiol (1985). 2005 Jul;99(1):134-40.)

14.Increased Human Growth Hormone After Oral Consumption of an Amino Acid Supplement: Results of a Randomized, Placebo-Controlled, Double-Blind, Crossover Study in Healthy Subjects.( Randomized Controlled Trial Am J Ther. 2020 Jul/Aug;27(4):e333-e337.)

_________________________________________________________________________________________________________

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้