Last updated: 17 ก.พ. 2566 | 714 จำนวนผู้เข้าชม |
Zinc
ซิงก์…แร่ธาตุสารพัดประโยชน์
Zinc (สังกะสี) สำคัญต่อร่างกายอย่างไร
Zinc หรือธาตุสังกะสีเป็นแร่ธาตุที่สำคัญและจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย เป็นองค์ประกอบของเอนไซม์ที่ช่วยให้ร่างกายทำงานได้ตามปกติกว่า 100 ชนิด รวมทั้งเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ต่อต้านของอนุมูลอิสระ Zinc ช่วยควบคุมส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน กระบวนการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต โปรตีนและไขมัน แหล่งอาหารที่อุดมด้วย Zinc มักเป็นอาหารกลุ่มที่มีโปรตีนสูง ได้แก่ เนื้อสัตว์ ไก่ หมู อาหารทะเล กุ้ง ปู หอย พืชผักใบเขียว ข้าวกล้อง ข้าวสาลี เมล็ดฟักทอง ถั่วลิสง ฯลฯ
Zinc เพิ่มประสิทธิภาพระบบภูมิต้านทาน
Zinc มีบทบาทสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกัน มีส่วนช่วยเสริมการทำงานของเม็ดเลือดขาวชนิด Lymphocytes ช่วยป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย และอาจยังช่วยบรรเทาอาการของไข้หวัดได้ จากงานวิจัยหนึ่งตีพิมพ์ในวารสาร The Cochrane Database of Systematic Reviews ปี พ.ศ. 2558 โดยรวบรวมผลงานวิจัยที่มีการใช้ Zinc เพื่อรักษาหรือป้องกันโรคหวัดจำนวน 18 ฉบับ พบว่าการรับประทาน Zinc ปริมาณ 75 มิลลิกรัมต่อวันขึ้นไป อาจช่วยลดระยะเวลาของอาการไข้หวัดในคนที่มีสุขภาพดีได้
Zinc ลดการเกิดสิว ช่วยให้สิวหายเร็วขึ้น
Zinc สามารถรักษาสิวได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยลดการอักเสบ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย P. Acnes ที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดสิว และยับยั้งการทำงานของต่อมไขมัน จึงช่วยลดการอักเสบของสิวให้หายเร็วขึ้น พร้อมกับลดการเกิดสิวใหม่
Zinc ช่วยสมานบาดแผล
Zinc เป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการสังเคราะห์โปรตีนคอลลาเจนที่เป็นโครงสร้างของเนื้อเยื่อผิวหนัง เมื่อเกิดบาดแผลขึ้น เนื้อเยื่อผิวหนังบริเวณบาดแผลจะถูกกระตุ้นให้สร้างคอลลาเจนเพิ่มมากขึ้น การได้รับ Zinc อย่างเพียงพอจะช่วยเพิ่มการสร้างคอลลาเจนรวมถึงโปรตีนชนิดอื่นที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการฟื้นฟูบาดแผล ทำให้เนื้อเยื่อแผลสมานเร็วขึ้น ลดโอกาสการเกิดรอยแผลเป็นตามมา
เสริมความแข็งแรงเส้นผม ลดผมขาดหลุดร่วง
Zinc มีส่วนช่วยกระตุ้นการสร้างสารเคราติน ซึ่งเป็นโปรตีนส่วนโครงสร้างของเส้นผม การได้รับ Zinc เพียงพอจึงช่วยให้เส้นผมของเราเงางาม แข็งแรง สุขภาพดี ลดโอกาสหลุดร่วง แก้ปัญหาผมบาง และยังกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผมใหม่อีกด้วย
อาการแสดงว่าร่างกายของคุณอาจขาด Zinc
โดยที่ Zinc เป็นแร่ธาตุที่สำคัญจำเป็นต่อร่างกายและร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์ขึ้นเองได้ ดังนั้นบางคนอาจมีความเสี่ยงเกิดภาวะขาด Zinc (Zinc Deficiency) ได้ อาการแสดงจากภาวะขาด Zinc เป็นอาการไม่จำเพาะ อาจคล้ายคลึงกับอาการขาดสารอาหารหรืออาการจากโรคบางชนิด อย่างไรก็ตามโดยทั่วไปแล้วอาการแสดงของร่างกายที่พบบ่อยจากการขาด Zinc ได้แก่
• คลื่นไส้ ท้องเสียเรื้อรัง เบื่ออาหาร
• ผมร่วง
• เล็บเจริญไม่เต็มที่ เล็บฝ่อลีบ หรือเป็นจุดขาว
• ในผู้ชายอาจมีปัญหาในการแข็งตัวของอวัยวะเพศ นกเขาไม่ขัน อัณฑะเจริญไม่เต็มที่(Hypogonadism)
• สายตาเห็นภาพไม่ชัดเจน
• การรับรสและการได้กลิ่นผิดปกติ
• มีผื่นขึ้นตามผิวหนังส่วนต่างๆ หรือมีสิวมากผิดปกติ
• ภูมิต้านทานโรคต่ำ ติดเชื้อง่าย มีโอกาสเป็นโรคปอดอักเสบ ปอดบวม ง่ายกว่าปกติ
• ในเด็กเล็ก ทารกในครรภ์อาจเจริญเติบโตช้ากว่าวัย
Zinc เหมาะกับใครบ้าง
• ผู้ที่ไม่สบายง่าย ติดเชื้อบ่อย เป็นหวัดนานกว่าปกติ
• ผู้ที่ต้องการเสริมประสิทธิภาพภูมิคุ้มกันร่างกาย
• ผู้ที่อยู่ระหว่างรักษาบาดแผลที่ผิวหนัง เช่น แผล
ผ่าตัด แผลฝีหนอง แผลไฟไหม้ แผลโดนความร้อน
• ผู้ที่มักเป็นสิว ทั้งสิวธรรมดาและสิวอักเสบ
• ผู้ที่ผมขาดเปราะ หลุดร่วงง่าย หรือต้องการเสริม
ความแข็งแรงให้กับเส้นผม
• ผู้ที่กินมังสวิรัติหรือกินเจ
ขนาดที่แนะนำเพื่อรับประทาน
โดยทั่วไปรับประทานวันละไม่เกิน 20 มิลลิกรัม อย่างไรก็ดีขนาดสูงสุดที่แนะนำโดยหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่ควรรับประทานเกิน 40 มิลลิกรัม/วัน
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโคลอสตรุ้ม สอบถามเพิ่มเติมที่ :
Line official : @VITAMATECLUB
เอกสารอ้างอิง
-ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน. (2564). Zinc คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร. สืบค้น 31 ตุลาคม 2565.//////// จาก https://hellokhunmor.com
-Jillian Kubala, MS, RD. (2018). Zinc Everything You Need to Know. Retrieved 30 October 2022, //////// Form https://www.healthline.com/nutrition/zinc
-Zinc แร่ธาตุกับประโยชน์ต่อสุขภาพรอบด้าน. (ม.ป.ป). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.pobpad.com/zinc [สืบค้นเมื่อ วันที่ 31 ตุลาคม 2565].
-เอกชัย เรืองดำ (นักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ กองผลิตภัณฑ์อาหารและวัสดุสัมผัสอาหาร), “สังกะสี แร่ธาตุที่ร่างกายต้องการน้อยแต่สำคัญ”, วารสารกรมวิทยาศาสตร์บริการ: 24.